ภูมิรัฐศาสตร์ไทยในระเบียงเศรษฐกิจ
เหนือ-ใต้-ออก-ตก
โลกเปลี่ยนเร็ว
มีการแข่งขันสูงจากการเชื่อมต่อที่ไร้พรมแดน
กำลังจะก้าวพ้นจากกลไกเศรษฐกิจแบบเก่าที่ตะวันตกครอบงำ(และยังพยายามครอบงำอยู่!)
แม้เทคโนโลยียุคใหม่ได้ทำลายกลระบบ “คนกลาง” และระบบ “ไล่ล่า” ไปเกือบราบคาบแล้ว
แต่อำนาจที่ผูกโยงอยู่กับความสัมพันธ์ของลัทธิล่าอาณานิคม
และความเคยชินของจิตวิญญาณรับใช้อาณานิคมยังเร่าร้อนอยู่กับคนบางกลุ่ม
จึงส่งผลต่อการปรับตัวเปลี่ยนผ่านให้เกิดขึ้นอย่างช้า ๆ!
โลกปัจจุบัน
ยุคที่ “จีน” ผงาดขึ้นเป็นผู้นำ-ผู้สานต่อความอยู่รอดของเศรษฐกิจทุนนิยมโลก
เป็นเรื่องที่เสียดแทงใจชนผิวขาวมาก!
การดิ้นรนต่อต้าน-สร้างยุทธศาสตร์หยุดยั้งทำลายความก้าวหน้าของระบบ
“เศรษฐกิจพันธมิตร” ที่เป็นข้อเสนอของจีนต่อพันธมิตรทั้งหลาย
จึงเป็นเรื่องที่ต้องหยุดยั้งต่อต้านจากอดีตตำรวจโลก!
การนำจีนกลับมายิ่งใหญ่ในยุค
สีจิ้น ผิง ไม่ได้เกิดขึ้นจากความบังเอิญหรือถูกชตากรรมใด ๆ กำหนดทั้งสิ้น!
แต่เกิดจากการสร้างทำและแผนงานยุทธศาสตร์ที่ชาญฉลาด
นับแต่การปฏิวัติเศรษฐกิจจีนยุคเติ้งเสี่ยวผิงแบบ ๑ ระบอบ ๒ ระบบ
หลังการปรับตัวอย่างหนักในช่วงที่อเมริกายื่นมือผลักดันให้จีนก้าวออกจากบริบทเศรษฐกิจคอมมิวนิสต์สู่การเป็น
“โรงงานโลก” ตั้งแต่ยุคสงครามเย็น
ตามคำชี้แนะของบาซินสกี้นักยุทธศาสตร์ที่ปรึกษาประธานาธิบดีอเมริกาคนสำคัญหลายยุคสมัย
เพื่อมุ่งแยกจีนออกจากรัฐเซียมุ่งให้คอมมิวนิสต์สูญพันธุ์! แต่กลไกเศรษฐกิจนั้นเป็นคลื่นความเคลื่อนไหวที่เสมือนมีชีวิต
มีขึ้น-ลง มีรุ่งเรือง-ตกต่ำ
มีพลังต่อความเคลื่อนไหวของภูมิรัฐศาสตร์และภูมิเศรษฐกิจโลกในกระแสที่เกิดขึ้นแต่ละช่วงยุคสมัย!
เศรษฐกิจที่ชะงักงันของจีนในช่วงศตวรรษที่
20 เกิดชะงักยาวนานนับสิบ ๆ ปี แต่ก็ต่อยอดฐานเดิมสู่ประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำในช่วงกว่า
4 ทศวรรษที่ผ่านมา
จนวันนี้จีนเป็นพญามังกรที่ติดปีกร่ายรำเชื่อมโยงอำนาจและความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับทุกทวีปทั่วโลก
การเชื่อมต่อกับเส้นทางการค้าใหม่ one belt - one road ที่จีนทุ่มสร้างเชื่อมโลกของไทย
จะเปิดโอกาสให้เศรษฐกิจไทยเชื่อมต่อกับโลกยุคใหม่ในแนวการค้าระเบียงเหนือใต้ตามแนวจุดตั้งภูมิเศรษฐกิจไทย
ขณะที่ภูมิรัฐศาสตร์ไทยจะต้องคงความสัมพันธ์แบบรอบด้านไว้
เนื่องจากตำแหน่งแห่งที่ทางภูมิศาสตร์ไทยอยู่ในจุดที่โดดเด่นและมีพื้นฐานของการสร้างมิตรภาพกับโลกรอบข้างมากกว่าที่จะเลือกข้าง-สร้างศัตรูกับใคร!
หลังการผงาดขึ้นของระบบเศรษฐกิจพันธมิตร
ที่มีจีนเป็นหัวขบวนในเส้นทางการค้าใหม่ของโลกเชื่อม 65
ประเทศที่วางอยู่บนแนวภูมิเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ของไทย
การเชื่อมต่อกับจีนในแนวภูมิเศรษฐกิจดังกล่าวของไทยจะเป็นการเชื่อมต่อกับโลกไปโดยปริยาย
ซึ่งทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการจัดการและการผลิตคิดสร้างบนฐานการพัฒนาเศรษฐกิจยุคใหม่ของไทยที่มี
EEC เป็นฐานสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุคใหม่!
สำหรับเส้นทางเศรษฐกิจใหม่อีกเส้นทางหนึ่ง
ที่ถูกปลุกขึ้นมาจากการประชุมอาเซียนเมื่อเดือนตุลาคมปีก่อน คราวที่โดนัลด์ ทรัมป์
กอดคอกับพันธมิตรอย่างญี่ปุ่น
ก็นับเป็นอีกเส้นทางเศรษฐกิจใหม่เส้นทางหนึ่งที่มะกันเรียกขานว่า อินโด-แปซิฟิก!
ซึ่งเป็นภูมิเศรษฐกิจแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตกนั่นเอง
ที่เชื่อมจากญี่ปุ่นสู่อินเดีย ผ่านเวียดนาม กัมพูชา ไทย พม่า เข้าอินเดีย
ส่วนด้านล่างออกมหาสมุทรอินเดียผ่านเอเชียใต้ ตะวันออก กลาง และเข้าเชื่อมแอฟริกา
ซึ่งเป้าหมายเศรษฐกิจการค้าที่ญี่ปุ่นจับมืออเมริกา-อินเดีย วางเป้าหมายสู่
“ตลาดบน” กลุ่มตะวันออก กลางและยุโรปใต้!
กลไกความเคลื่อนไหวของภูมิรัฐศาสตร์และกระแสช่วงชิงอำนาจทางการค้าเศรษฐกิจในกระแสโลก
ในยุคที่โลกไร้สงครามแต่ก็ไม่มีสันติภาพนี้
ความโดดเด่นของภูมิศาสตร์ไทยปรากฏความได้เปรียบขึ้นโดดเด่น
ขึ้นอยู่กับว่าไทยจะขับเคลื่อนความร่วมมือ การเชื่อมต่อ
และการปรับตัวเปลี่ยนผ่านจากความเทอะทะล้าหลังของระบบราชการที่ครอบงำอยู่ได้แค่ไหน?
เพียงไร? รวมทั้งการจัดการบริหารพื้นที่การผลิต-การสร้างความก้าวหน้าใหม่อย่าง EEC
ไปได้ไกลและยั่งยืนเพียงใด?
ภูมิเศรษฐกิจที่เป็นต่อได้เปรียบที่มีอยู่
ถ้าขาดยุทธศาสตร์การบริหารจัดการและ
ความร่วมมือกับโลก
ก็จะเป็นเพียงความว่างเปล่าที่ไม่ก่อมรรคผลอันใด!
ความเคลื่อนไหวของเส้นทางการค้าที่สอง
ฟากฝั่งกระแสนำโลกกำหนดขึ้น
ไม่ว่าระเบียงเหนือ-ใต้ หรือ ระเบียงตะวันออก-ตะวันตก
ล้วนมีประเทศไทยตั้งอยู่โดดเด่นยิ่ง!
การจัดการพื้นที่การผลิต-ระบบการผลิต กลไกกฎหมายและการพัฒนายุคใหม่
การเร่งสร้าง-พัฒนาบุคลากร การถ่ายโยงความรู้และการพัฒนาเทคโนโลยีกับประเทศที่มีความก้าวหน้า
การหนุนสร้างเศรษฐกิจท้องถิ่น
ตลอดจนการจัดปรับการบริหารท้องถิ่นในเขตการพัฒนาพิเศษ
ล้วนเป็นความจำเป็นในการสร้างโอกาสและความก้าวหน้าครั้งใหญ่ของประเทศ!
การขยับก้าวของสังคมเศรษฐกิจไทยในกระแสภูมิรัฐศาสตร์ยุคใหม่วันนี้
เป็นการขยับก้าวที่เชื่อมต่อกับโลกที่มีความมั่งคั่งยั่งยืนทางเศรษฐกิจเป็นผลตอบแทนอย่างมีนัยสำคัญ
ถ้าผู้นำประเทศคิดเป็น-ทำเป็น-วิสัยทัศน์กว้างไกล
ประเทศไทยก็จะขยับตัวสร้างความก้าวหน้าได้โดดเด่นในทุกมิติ
เว้นเสียแต่จะกลับลำเผชิญกับความหื่นดิบทางการเมืองแบบที่เคยเป็นมาอีกครั้ง!
กรณีดังกล่าวประเทศก็จะจมอยู่ในสงครามความขัดแย้งที่นำสู่ความพินาศย่อยยับอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้!
นี่คือหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญ!
(โลกใบใหม่
ไทยโพสต์ เสาร์ที่ 24-2-61)
No comments:
Post a Comment